วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

ความซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นส่วนหนึ่งของความจริงใจ  การที่เราจะมีความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น  เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองเสียก่อน  แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีความซื่อสัตย์หรอก  แต่ให้เป็นคนมีความจริงใจก็สามารถมีความซื่อสัตย์ได้แล้ว  เพราะเมื่อเรามีความจริงใจผลพลอยได้คือความซื่อสัตย์  การที่เรามีความซื่อสัตย์ต่อผ๔อื่นไม่ได้  ก็เพราะขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง
ธรรมะว่าด้วยความซื่อสัตย์ก็มีลักษณะเหมือนธรรมะข้ออื่น  คือต้องทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยเริ่มต้นที่ตนเองก่อน  คนถ้าไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเองแล้ว  โดยมักคิดว่าถ้าตนเองทำอะไรผิดแล้วปกปิดไว้มิให้คนอื่นล่วงรู้ในสิ่งที่ตนทำ  โดยมักจะคิดว่าถ้าไม่บอกว่าเราทำอะไรผิดบ้างคนอื่นก็จะไม่รู้  นี่คือความไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง  การทำให้ตนมีความซื่อสัตย์อย่างแท้จริงนั้นเป็นเรื่องยาก  คนที่จะมีความซื่อสัตย์ได้นั้นต้องมีความจริงใจต่อตนเอง  ถ้าจะให้ดีคือต้องกล้าประจานความชั่วที่ตนมีต่อหน้าผู้อื่น  คนฟังยิ่งมากยิ่งดี  ถ้าเราทำได้รับรองว่าเราจะมีความซื่อสัตย์แน่นอน  แต่ถ้าทำไม่ได้ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าจะเอาความซื่อสัตย์ต่อตนเองมาจากไหน  เมื่อเราไม่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองก็ไม่สามารถซื่อสัตย์ต่อผู้อื่นและส่วนรวมได้เลย
การจะเรียกร้องสิ่งใดจากผู้ใดจึงไม่ต้องไปเรียกร้องจากผู้อื่น  แต่ให้เริ่มต้นที่ตนเองทั้งสิ้น  หากอยากให้สังคมสงบแต่ละคนต้องทำวิปัสนากรรมฐาน  หากเราไปเรียกร้องจากคนอื่นให้คนอื่นเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ย่อมไม่อาจทำได้  ทุกคนต้องเรียกร้องเอาจากตนเองโดยถามว่าตนเองทำได้หรือยัง  การเรียกร้องสิ่งใดจากผู้อื่นคือการพึ่งคนอื่นอย่างกลาย ๆ  นี่เอง  การที่เราไปเรียกร้องให้คนอื่นทำนั่นหมายความว่าตนเองต้องทำให้ได้ตามนั้นเสียก่อน  เมื่อเราทำได้แล้วจึงมีความชอบธรรมในการเรียกร้องให้ผู้อื่นทำตามที่เราอยากให้ทำได้
การที่เราเรียกร้องสิ่งใดแล้วอยากให้สิ่งใดเกิดขึ้นกับสังคม  จึงต้องย้อนกลับมาดูที่ตนเองเป็นอันดับต้น  เพราะถ้าหากทุกคนสามารถทำให้ตนเองมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นได้  จะมีความจำเป็นที่จะต้องไปเรียกร้องความซื่อสัตย์ต่อสังคมหรือไม่  หากเราทุกคนรู้จักข้อบกพร่องแล้วแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองด้วยวิปัสนากรรมฐานโดยไม่เข้าข้างตนเอง  หากทุกคนทำได้จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องไปเรียกร้องความสงบสุขจากสังคม  หากเราจะเรียกร้องอะไรจากผู้อื่นและส่วนรวม  เราต้องมีความมั่นใจเสียก่อนว่าต้องทำเช่นนั้นให้ได้ก่อน  การพึ่งพาผู้อื่นจึงเป็นการปัดความรับผิดชอบในตน  เพราะแต่ละคนจะเกี่ยงให้คนอื่นเริ่มทำก่อน  เช่นคุณทำก่อน  เธอทำก่อน  แล้วผมค่อยทำ  แล้วทั้งคุณทั้งเธอทั้งหลายก็ย้อนกลับมาบอกให้ผมทำก่อน  เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมาก็ทำอะไรไม่ได้เสียที  ปัญหาเรื่องการขาดความซื่อสัตย์หรือการขาดคุณธรรมใด ๆ  ก็ตามให้พิจารณาให้ดีว่าเป็นเช่นนี้หรือไม่  ถึงแม้ผู้เขียนจะเขียนเรื่องความซื่อสัตย์  แต่หลักการนี้เป็นเครื่องชี้นำแล้วนำไปประยุกต์ใช้กับคุณธรรมข้ออื่นได้ด้วย
การจะทำให้สังคมดีคือการทำให้แต่ละคนเป็นคนดี  ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยส่วนรวมจึงต้องขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบในแต่ละคน  หากวันนี้เราจะไปเรียกร้องให้ผู้อื่นมีความซื่อสัตย์ต้องย้อนถามตนเองว่าตนเองมีความซื่อสัตย์แล้วหรือยัง  ด้วยเหตุนี้เราอยากได้สิ่งใดจึงต้องแสดงและทำสิ่งนั้นให้ผู้อื่นมองเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจไร้เจตนาแอบแฝงเสียก่อน  หากเราไปเรียกร้องให้ผู้อื่นทำกับเราก่อนยังเรียกร้องไม่ได้  แล้วจะไปเรียกร้องอะไรจากสังคมและส่วนรวมให้ต้องมีความซื่อสัตย์  รู้จักทำหน้าที่  ฯลฯ  นั่นเอง

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ภูมิศาสตร่

ความหมายของคำว่า "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ( Geographic Information System ) GIS"
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System : GIS คือกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้กำหนดข้อมูลและสารสนเทศ ที่มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ เช่น ที่อยู่ บ้านเลขที่ สัมพันธ์กับตำแหน่งในแผนที่ ตำแหน่ง เส้นรุ้ง เส้นแวง ข้อมูลและแผนที่ใน GIS เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศที่อยู่ในรูปของตารางข้อมูล และฐานข้อมูลที่มีส่วนสัมพันธ์กับข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ซึ่งรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหลาย จะสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วย GIS และทำให้สื่อความหมายในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับเวลาได้ เช่น การแพร่ขยายของโรคระบาด การเคลื่อนย้าย ถิ่นฐาน การบุกรุกทำลาย การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ เมื่อปรากฏบนแผนที่ทำให้สามารถแปลและสื่อความหมาย ใช้งานได้ง่าย
GIS เป็นระบบข้อมูลข่าวสารที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ แต่สามารถแปลความหมายเชื่อมโยงกับสภาพภูมิศาสตร์อื่นๆ สภาพท้องที่ สภาพการทำงานของระบบสัมพันธ์กับสัดส่วนระยะทางและพื้นที่จริงบนแผนที่ ข้อแตกต่างระหว่าง GIS กับ MIS นั้นสามารถพิจารณาได้จากลักษณะของข้อมูล คือ ข้อมูลที่จัดเก็บใน GIS มีลักษณะเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) ที่แสดงในรูปของภาพ (graphic) แผนที่ (map) ที่เชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงบรรยาย (Attribute Data) หรือฐานข้อมูล (Database)การเชื่อมโยงข้อมูลทั้งสองประเภทเข้าด้วยกัน จะทำให้ผู้ใช้สามารถที่จะแสดงข้อมูลทั้งสองประเภทได้พร้อมๆ กัน เช่นสามารถจะค้นหาตำแหน่งของจุดตรวจวัดควันดำ - ควันขาวได้โดยการระบุชื่อจุดตรวจ หรือในทางตรงกันข้าม สามารถที่จะสอบถามรายละเอียดของ จุดตรวจจากตำแหน่งที่เลือกขึ้นมา ซึ่งจะต่างจาก MIS ที่แสดง ภาพเพียงอย่างเดียว โดยจะขาดการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับรูปภาพนั้น เช่นใน CAD (Computer Aid Design) จะเป็นภาพเพียงอย่างเดียว แต่แผนที่ใน GIS จะมีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ คือค่าพิกัดที่แน่นอน ข้อมูลใน GIS ทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย สามารถอ้างอิงถึงตำแหน่งที่มีอยู่จริงบนพื้นโลกได้โดยอาศัยระบบพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geocode) ซึ่งจะสามารถอ้างอิงได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ข้อมูลใน GIS ที่อ้างอิงกับพื้นผิวโลกโดยตรง หมายถึง ข้อมูลที่มีค่าพิกัดหรือมีตำแหน่งจริงบนพื้นโลกหรือในแผนที่ เช่น ตำแหน่งอาคาร ถนน ฯลฯ สำหรับข้อมูล GIS ที่จะอ้างอิงกับข้อมูลบนพื้นโลกได้โดยทางอ้อมได้แก่ ข้อมูลของบ้าน(รวมถึงบ้านเลขที่ ซอย เขต แขวง จังหวัด และรหัสไปรษณีย์) โดยจากข้อมูลที่อยู่ เราสามารถทราบได้ว่าบ้านหลังนี้มีตำแหน่งอยู่ ณ ที่ใดบนพื้นโลก เนื่องจากบ้านทุกหลังจะมีที่อยู่ไม่ซ้ำกัน